บทความนี้นำมาจาก http://www.vcharkarn.com ผู้เขียนคือ Wimma
ก่อนอื่นคุณลองมองย้อนกลับไปเมื่อตอนเริ่มเรียน สมัยที่ยังเป็นเด็กสิคะ คุณอาจรู้สึกว่า ตัวเองต้องทำตามที่ คนอื่นบอกอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวมีคนสั่งให้ทำนั่น ให้ทำนี่ แต่เมื่อเรียนสูงขึ้น ก็จะเห็นว่าเราสามารถที่จะจัดระบบ การเรียนเหล่านี้ ด้วยตัวของเราเอง และนี่ก็เป็นโอกาสดีค่ะ ที่จะได้ฝึกตัวเองให้เป็นคนที่มีความกระตือรือร้น ที่จะเรียนรู้ด้วยตัวเอง
1. หาเหตุผลของตัวเองในการเรียน
บางคนอาจเรียนเพราะว่าคุณพ่อ คุณแม่ คาดหวังเอาไว้สูง และต้องการให้เรียน หรือไม่ก็เป็นเพราะคนอื่นทั้งนั้น ทำไมไม่ลองหาเหตุผลให้ตัวเองดูล่ะคะ ว่าทำไมเราถึงควรจะเรียน เพราะถ้าคุณมีเหตุผลให้ตัวคุณเองแล้ว ก็จะทำให้คุณอยากเรียน
2. อย่าให้คนอื่นจัดระบบการเรียนให้คุณ
เพราะรับรองได้ค่ะว่าคุณน่ะไม่มีทางจะรู้สึกพอใจ เมื่อมีคนมาเจ้ากี้ เจ้าการ บอกคุณว่า เวลานี้คุณต้องทำงานชิ้นนี้ ต้องอ่านหนังสือเล่มนี้ และถ้าหากว่า มีงานต้องส่ง และ มีกำหนดส่ง คุณก็ควรกำหนดวันส่งของคุณเองก่อนหน้าวันส่งจริง และทำให้ได้เหมือนที่เรากำหนดเอาไว้
3. ทำตารางเรียนของคุณเอง
เช่น ดูว่าในการเรียนคอร์สนี้มีหัวข้อที่ต้องเรียนอะไรบ้าง จากนั้น คุณก็ จัดตาราง ว่าวันไหนคุณจะทำความเข้าใจกับหัวข้อใดบ้าง เมื่อไหร่ควรทำแบบฝึกหัด เมื่อไหร่ ควรทบทวน และ ควร จะอ่านวิชาไหนก่อน หลัง
4. ทดสอบตัวเองอย่างสม่ำเสมอ
ถึงแม้ว่า เมื่อคุณเรียนไปได้ซักพัก ก็ต้องมีการสอบ หรือ คนอื่นมาทดสอบคุณ แต่คุณก็ควรที่จะทำการทดสอบตัวเองอยู่เนืองๆ เพราะถ้าหากคุณฝึกหัดไว้เป็นประจำ การทดสอบอื่นๆ ก็เป็นเรื่องไม่ยากที่จะทำ
5. ให้คะแนนในแต่ละหัวข้อด้วยตัวคุณเอง
คุณน่าจะมีข้อสอบเก่าอยู่บ้าง หรือ ในการทำงานส่งอาจารย์ ดูว่า เวลาอาจารย์ตรวจนั้นมีการให้คะแนนอย่างไร เมื่อเราเขียนสูตรผิด แต่วิธีทำถูก หรือ เมื่อทำผิดในแต่ละจุด จะถูกหักคะแนนอย่างไร และถ้าทำถูกคะแนนที่ได้ควรเป็นเท่าไหร่ เมื่อทำได้แบบนี้ อีกหน่อยคุณก็สามารถ ที่จะ ประเมินได้ว่า ที่คุณทำไปควรได้คะแนนซักเท่าไหร่
6. หาเป้าหมายของตัวเอง
ปกติแล้วเรามักจะทำงานตามเป้าหมายของคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะเรียนอะไร เมื่อไหร่ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะหาเป้าหมายให้ตัวคุณเองไม่ได้นี่คะ ก็คิดให้ตัวเองว่าเป้าหมาย ในการเรียนหัวข้อนี้ควรเป็นอย่างไร ควรทำความเข้าใจเมื่อไหร่ อย่างไร
7. ดูว่าแหล่งข้อมูลของเรามีจากไหนบ้าง
เช่น จากหนังสือเรียน จากโน้ตในห้องเรียน อาจารย์ เพื่อนร่วมห้อง ถ้าคุณคิดว่าอาจารย์คือแหล่งข้อมูลมากกว่า เป็นแหล่งกดดันคุณล่ะก็ นั่นดีเลยค่ะ ใช้ประโยชน์ให้เต็มที่ เพราะอาจารย์นั้นให้แง่คิดให้คำตอบเราได้มากทีเดียว และถ้าคิดว่าเพื่อนเป็นแหล่งข้อมูล มากกว่า เป็นคู่แข่ง นั่นก็ยิ่งดีเข้าไปอีกเพราะการมีเพื่อนร่วมเรียนด้วยจะทำให้ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
8. ใช้ประโยชน์จากผลตอบรับที่ได้
ไม่ว่าจากคะแนนที่ได้จากงานแต่ละชิ้น คำวิพากษ์เกี่ยวกับงานที่คุณทำ ถ้าหากสิ่งที่คุณได้ยินได้ฟังนั้นเป็นในแง่ลบ อย่าท้อแท้ ท้อถอยไปซะก่อน แต่เปลี่ยนวิกฤต ให้เป็นโอกาส พยายามที่จะแก้ไข ทำให้เรารู้สึกว่าอย่างน้อยเราก็ได้พบข้อบกพร่องของเรา
9. ปรับเปลี่ยนแผนการเรียนอยู่เสมอ
บางครั้งคุณอาจมีงานเร่งด่วนเข้ามา ทำให้ต้องรีบทำงานเหล่านี้ก่อน เพราะฉะนั้นก็เรียงลำดับความสำคัญก่อนหลังให้ดี จากนั้นก็ลงมือทำให้ได้ตามแผนที่วางไว้
10. คิดเสมอว่าในการเรียนแต่ละหัวข้อนั้น
ไม่เพียงแต่ต้องคิดว่าจะทำอะไร เมื่อไหร่ แต่ต้องให้เหตุผล ด้วยว่า ทำไมคุณถึงต้องทำหัวข้อนี้ คิดเหตุผลด้วยตัวคุณเอง และ คุณคาดหวังอะไรเมื่อทำความเข้าใจกับมันแล้ว คิดว่าคุณน่าจะเข้าใจมากขึ้น หรือ สามารถทำอะไรได้บ้างหลังจากเรียนแล้ว